logo

สวนสาธารณะบึงพระราม

                          สวนสาธารณะพระรามหรือสวนสาธารณะบึงพระราม อยู่ในตำบลประตูชัยอำเภอพระนครศรีอยุธยามีเนื้อที่ ๒๗๔ ไร่ และมีปูชนียถสานที่สำคัญ คือพระที่นั่งเย็น   และอยุธยามหาปราสาท มีลักษณะเป็นปราสาททรงยอด 3 องค์ติดกัน ด้านหน้ามีบันไดด้านหลังเป็นคูหาตัน ด้านข้างเป็นคูหาติดต่อกับปราสาทองค์ริมทั้งสองมีบันได 3 ขั้นปราสาททั้งสามองค์ตั้งอยู่บนฐานย่อไม้สิบสองจากระดับสูง 0.35 เมตร โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กผนังก่ออิฐถือปูนเรียบ ลายประดับต่าง ๆ ทำด้วยปูนซีเมนต์ทรายละเอียดประดับกระจกและปิดทอง ภายในปราสาทมีแท่นฐานทำด้วยหินอ่อน สำหรับรองรับพระบรมรูปจำลองของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) องค์พระราชาอนุสาวรีย์ประดิษฐานไว้บนแท่นสูง เป็นที่สถิตของดวงวิญญาณสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1และอดีตบูรพกษัตริย์อีก 5 พระองค์พระที่นั่งเย็น ตรงหน้าวัดพระราม ไปทางทิศตะวันออก ที่เห็นอยู่ทุกวันนี้เป็นของสร้างขึ้นใหม่ พ.ศ. 2499 ตามรากฐานเดิมของเดิมเป็นตึกของพระราชาคณะผู้ครองวัดพระราม หรืออาจเป็นพระที่นั่งสำหรับประทับทอดพระเนตรเรือซึ่งอาจจะโปรดเกล้าฯ ให้มีประชุมเล่นสักวาในคราวนักขัตฤกษ์ ฤดูน้ำก็ได้

ประวัติสังเขป 

                          บึงพระรามเป็นบึงใหญ่ที่เข้าใจว่าเป็นหนองโสน ที่มีมาแต่เดิมก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งสร้างกรุงฯ นั้นคงจะขุดเอาดินไปถมที่สร้างวังและวัดต่าง ๆ จึงกลายเป็นบึงใหญ่ไป บึงนี้มีชื่อปรากฏในกฎมณเฑียรบาลว่า “ บึงชีขัน” และต่อมาได้เปลี่ยนไปเป็นบึงพระราม ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเปลี่ยนเมื่อใด แต่คงเรียกชื่อนี้ภายหลังที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โปรดฯ ให้สร้างวัดพระรามแล้ว เพราะบึงนี้อยู่หน้าวัดพระราม

                          ภายในบริเวณบึงพระราม มีโบราณสถานที่สำคัญเป็นวัดร้าง ๕ วัด คือ วัดหลังคาดำ วัดหลังคาขาว วัดสังขปัด วัดโพง และวัดไตรตรึงค์ รวมทั้งตึกดิน ซึ่งเป็นที่เก็บกระสุนและดินประสิว ซึ่งมีรูปแบบศิลปะเป็นแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่เมื่อมีการบูรณะ บึงพระรามครั้งใหญ่ ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ตึกดินจึงได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ หลังจากนั้น เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน เรียกกันว่า สวนสาธารณะพระราม

สิ่งสำคัญ

                            1. บึงพระรามและสิ่งก่อสร้างภายในบึง

                            2. ตึกดินที่เก็บกระสุนและดินประสิว

ลักษณะรูปแบบศิลปกรรม

                            1. เจดีย์และวิหาร ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอยุธยา

                            2. ตึกเก็บกระสุนและดินประสิว (ตึกดิน) มีช่องประตูหน้าต่างก่ออิฐเป็นรูปโค้งแหลม เป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่ตึกดินที่เห็นในปัจจุบัน ได้รับการบูรณะในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม วัดตึกดิน (พระที่นั่งเย็น) ตั้งอยู่ภายในบริเวณบึงพระราม ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างในรัชสมัยใด จากลักษณะสถาปัตยกรรมที่เป็นอาคารทรงตึก 2 ชั้น และทำช่องประตูหน้าต่างด้วยการก่ออิฐเป็นรูปโค้ง สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยอาจสร้างขึ้นให้เป็นพระที่นั่งสำหรับทอดพระเนตรเรือ ซึ่งจะโปรดฯ ให้มีประชุมเล่นเพลงสักวาในคราวนักขัตฤกษ์ฤดูน้ำหลาก อาคารที่เห็นในปัจจุบันนี้เป็นอาคารที่สร้างทับบนรากฐานเดิมในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อใช้เป็นที่เก็บกระสุนและดินประสิว ปัจจุบันเป็นอาคารที่ตั้งอยู่ในเขตสวนสาธารณะ บึงพระรามซึ่งได้รับการปรับปรุงให้เป็นสวนพักผ่อนหย่อนใจของชาวเมือง

แผนที่
 
ย้อนกลับ >>>
spaceim
พัฒนาข้อมูลโดย:กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โทร/โทรสาร. 0-3533-5665 ต่อ 26